ถ่านไฟเก่า

คุณคนสำคัญ

Happy Valentine's Day

My music

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต

แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์
ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน
สำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน


ความนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแหงชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 25 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ ส่งเสริมการดำเนินงานการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ทั่วถึง และพอเพียง โดยนัยของมาตรา ดังกล่าวต้องการให้สังคมไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้ของบุคคล ในรูปของแหล่งการเรียนรู้ที่บุคคลสามารถจะเรียนรู้ได้อย่างหลากหลายกว้างขวาง และมีมากพอเพียงที่จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นได้ ไม่ว่าการเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากการศึกษาในรูปแบบใด ๆ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาตามอัธยาศัย ก็ต้องมีแหล่งที่จะช่วยให้เกิดการ เรียนรู้ได้มากกว่าในขอบเขตของโรงเรียน
ในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าว ได้กล่าวถึงแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การกีฬาและนันทนาการ แหล่งข้อมูลและแหล่งการเรียนรู้อย่างอื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นถึงความหลากหลายของแหล่งการเรียนรู้เหล่านี้ ซึ่งแท้ที่จริงอยู่รอบ ๆ ตัวเรานี้เอง เป็นที่ที่เราคุ้นเคย และสัมผัสอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ทว่าเราจะทำความรู้จักแหล่งการเรียนรู้ตลอาดชีวิตนี้ได้อย่างไร และในบทบาทหน่วยงานของรัฐที่จะต้องส่งเสริมการดำเนินงาน และการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตควรจะทำอย่างไร
ในการประชุมสัมมนาของกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อเดือนสิงหาคม 2543 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้มีการพูดคุยหารือกันระหว่างนักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในแหล่งการเรียนรู้ ตลอดจนได้ไปดูแหล่งการเรียนรู้ตามที่นิยามไว้ในมาตราที่ 25 หลายแห่ง และกลับมาถกแถลงทำความเข้าใจเรื่องแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีประเด็นหลัก ๆ ที่พูดถึงคือ เรื่องการศึกษาตามอัธยาศัย และแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ในฐานะที่เป็นรูปนามของกันและกัน


การเรียนรู้ของมนุษย์
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย มหัศจรรย์ สามารถใช้ความรู้นั้นเพื่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมของตนได้ จะโดยพัฒนาการทางร่างกาย และ สมอง หรือโดยการพัฒนาการเรียนรู้ เพื่อการอยู่รอดในสังคมก็ตาม มนุษย์มีวิวัฒนาการของการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้เพื่อที่จะมีชีวิตรอดตามสัญญาณของสิ่งมีชีวิตไปสู่การทำมาหากินยังชีพ จนพัฒนาขึ้นเป็นวิถีชีวิตของชนเผ่า จนเริ่มมีการทำให้การเรียนรู้มีรูปแบบขึ้น เพื่อถ่ายทอดความรู้ ค่านิยมจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งในสังคมไทยนับแต่บรรพกาล การเรียนรู้เริ่มจากบ้านจากครอบครัว เรียนรู้ที่จะทำมาหากิน เรียนรู้ที่จะอยู่รอด จนวิวัฒนาการไปสู่การเรียนรู้ในวัด ในวัง และในสกุลช่าง ต่าง ๆ จนเมื่อก้าวเข้าสู่การพัฒนาประเทศเข้าสู่ความเป็นสากล จึงเริ่มมีโรงเรียนโรงสอนขึ้น เมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมาที่ทำให้มิติของการเรียนรู้หลากหลายมิติหายไป คงไว้แต่เพียงมิติของการเรียนรู้ใน
ระบบโรงเรียนทั้ง ๆ ที่มิติของการเรียนรู้ที่นอกระบบ และหลากหลายยังคงอยู่
มนุษย์มีการเรียนรู้ทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ กล่าวคือ
การเรียนรู้ที่เป็นทางการ มีการจัดระบบการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีหลักสูตร มีสื่อ มีวิธีการ ตลอดจนการวัดผล ประเมินผล จะเป็นในระบบ หรือนอกระบบก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ วางแผนได้
ส่วนการเรียนรู้ที่ไม่เป็นทางการ เป็นการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย ไม่ชัดเจนตายตัว เรียนรู้โดยการเลียนแบบ (Animate) เรียนรู้จากการทำงาน เรียนรู้จากการเล่น เรียนรู้จากการสนทนา เรียนรู้จากการเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์ต่าง ๆ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามสถานการณ์ ไม่อาจคาดหมาย กะการล่วงหน้าได้
การเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาตามอัธยาศัย
เพราะเหตุว่าการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นการจัดสภาพแวดล้อม และปัจจัยเกื้อหนุน ทั้งสื่อ แหล่งความรู้ บุคคล สถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลได้เรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย เรียนตามความสนใจ ความพร้อม โอกาส แต่กระนั้นก็ตามก็อาจเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจไว้ล่วงหน้าก็ได้
หากจะเปรียบรูปแบบการศึกษาตามนัยของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ เป็น
เชือก 3 เส้น ที่ขึงชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต จะเห็นได้ว่า เชือกเส้นยืนที่เชื่อมโยงชีวิตมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย คือ การศึกษาตามอัธยาศัย ในขณะที่เชือกเส้นใหญ่ที่พันรอบเส้นอื่นคือ การศึกษาในระบบ จะมีระยะเพียงช่วงหนึ่งของชีวิตแล้วแต่ละบุคคล บางคนก็ 6 ปี 9 ปี 12 ปี 16 ปี หรือมากกว่าเป็นเส้นที่หล่อหลอมบุคลิกของคน สร้างความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เรียกว่าเป็นการศึกษาในระบบ ในขณะที่เชือกอีกเส้นหนึ่งถักทอชีวิตเป็นช่วง ๆ เป็นเปราะ ๆ เพื่อแต่งเติมให้เชือกแห่งชีวิต
สมบูรณ์ อาจจะเกิดขึ้นก่อนเรียนในระบบโรงเรียน หรือในระหว่างเรียน และเมื่อพ้นจากระบบโรงเรียนแล้วก็ตาม แต่เชือกทั้งสามเส้นนี้จะถักทอชีวิตการเรียนรู้ของมนุษย์ จากลมหายใจสุดท้ายที่บอกอรหังก่อนหมดลมหายใจ ให้เรียนรู้ที่จะตายไปอย่างสงบสุข


การศึกษาตามอัธยาศัย
การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่มีรูปแบบที่หลากหลาย และไม่เป็นทางการ ดังนั้นเมื่อพิจารณาถึงลักษณะของการศึกษาตามอัธยาศัย พึงทำความเข้าใจว่า แม้ว่าเราไม่สามารถจับตัวตนของการศึกษาตามอัธยาศัยได้ชัดเจนแน่นอน แต่เราก็รู้ว่ามีการศึกษาชนิดหนึ่งอยู่จริงที่ทำให้
บุคคลเกิดการเรียนรู้ การที่เราไม่สามารถจัดการให้การศึกษาตามอัธยาศัย มีรูปแบบชัดเจนแน่นอน เพราะธรรมชาติของการศึกษาชนิดนี้เป็นลักษณะที่ไม่ชัดเจนแน่นอน และยิ่งเมื่อเอากรอบความคิดเรื่องการศึกษาที่จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องวัตถุประสงค์ หรือเป้าประสงค์ของการศึกษา หลักสูตรวิธีการเรียนการสอน ครู สื่อ วิธีการวัดผลประเมินผล ซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ (Paradigm) ทางการศึกษาที่ ปลูกฝังกันมาช้านาน โดยระบบการศึกษาจะทำให้เราไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการศึกษาตามอัธยาศัย โดยใช้กรอบของการศึกษาทั่ว ๆ ไปได้เลย เพราะทุกคำตอบจะมีแต่ความกำกวม ไม่ชัดเจน แน่นอน ดังนั้นการทำความเข้าใจการศึกษาตามอัธยาศัย จึงต้องไปให้พ้นจากกรอบของการศึกษาทั่ว ๆ ไป


การทำความเข้าใจการศึกษาตามอัธยาศัย ควรจะได้พิจารณาประเด็นต่อไปนี้ คือ
1. การศึกษาตามอัธยาศัยเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งตามแต่สถานการณ์ จะพาไป
สถานการณ์แห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไม่จำกัดสถานที่ อายุ กลุ่ม รูปแบบ หรือวิธีการเรียนรู้
2. การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ จะเป็น
บุคคล วัตถุ สิ่งของ สถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น เรียนจากพ่อแม่ เรียนจากการทดลองทำ เรียนจากการพาตนเองเข้าไปสู่เหตุการณ์ เรียนจากการสัมผัสวัสดุสิ่งของ สื่อ ฯลฯ การเรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ จุดหนึ่งภายในใจของบุคคลเป็นจุด “รุจิ” ที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการภายใน
3. ลักษณะของการเรียนรู้ที่เกิดจากการศึกษาตามอัธยาศัย โดยทั่วไปมีลักษณะ
เฉพาะที่
- เป็นการเรียนรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานของการสนทนา (Conversation Base)
- ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ด้วยตนเอง นับแต่เลือกที่จะเรียนหรือไม่
เรียน จะเรียนเรื่องใด และพอเพียงแล้วหรือยัง
- การเรียนรู้คาดหมายล่วงหน้าไม่ได้ (Unpredictable) บางสถานการณ์
เกิดการเรียนรู้ แต่บางสถานการณ์ไม่เกิดการเรียนรู้ บางคนเกิดการเรียนรู้ แต่ในสถานการณ์เดียวกัน บางคนไม่เกิดการเรียนรู้
- การประเมินผลอยู่ที่ตัวผู้เรียนเองเป็นสำคัญ แต่บางกรณีขึ้นอยู่กับบุคคล
ที่เกี่ยวข้องด้วยที่จะยอมรับความรู้ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีรูปแบบการประเมินที่ชัดเจนแน่นอน
4. ผลของการเรียนรู้ที่เกิดจากการศึกษาตามอัธยาศัยนั้นมีอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะเป็น
การสั่งสมมาทีละเล็กละน้อย ไม่อาจคาดหวังได้ว่าผลของการเรียนรู้เป็นอย่างไรจนกว่าจะนำมาใช้ใน
ชีวิตจริง การประเมินจึงทำได้ไม่ง่าย เพราะคุณค่าของผลการเรียนรู้ตามอัธยาศัยไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปสู่การเรียนต่อได้มากเท่ากับการนำไปใช้ในชีวิตจริง
5. การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นเพียงการจัดการให้บุคคลเรียนรู้อย่างไม่เป็น
ทางการ ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยการจัดสภาพแวดล้อม ปัจจัยเกื้อหนุน บรรยากาศ สถานการณ์ ให้บุคคลได้เรียนรู้


นักการศึกษาตามอัธยาศัย
การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย บางครั้งอาจต้องใช้นักการศึกษาตามอัธยาศัย
(Informal Education) ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักใช้โอกาส สถานการณ์ในการจูงใจ ตะล่อมโน้มน้าว หรือกระตุ้นให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ หรือเป็นผู้ที่ให้คำตอบบางอย่าง หรือให้ข้อมูล คำแนะนำ หรือเป็นผู้ชี้แหล่งความรู้ที่บุคคลจะไปเรียนรู้



นักการศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นใครก็ได้ที่มีคุณลักษณะดังกล่าว อาจจะอยู่รอบ ๆ
ตัวเรา หรือบางทีตัวเราเองก็อาจเป็นนักการศึกษาตามอัธยาศัยในตัวเราเอง ความสำคัญของการ
ศึกษาตามอัธยาศัย จึงอยู่ที่ความเป็นผู้รู้จักใช้โอกาสในการช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้มากกว่าเป็น
ผู้ถ่ายทอดความรู้เอง ภูมิปัญญาบางท่านก็เป็นผู้ให้ความรู้ แต่ในบางขณะก็อาจเป็นนักการศึกษาตาม
อัธยาศัยได้ด้วย


แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมื่อหันไปมองรอบ ๆ ตัวเรา จะเห็นได้ว่าสถานที่ต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเรา เป็นสถานที่ที่จะให้ความรู้แก่เราได้ตลอดเวลา เป็นแหล่งที่มีความรู้อย่างมหาศาล อยู่ที่ว่าเราจะมีโอกาสได้เข้าไปสู่สถานที่ที่จะให้เราได้เรียนรู้อย่างไร 
แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแหล่งที่บุคคลสามารถเรียนรู้ได้ตามความสนใจ ตามศักยภาพและโอกาส ตามความสามารถ โดยจะเรียนรู้ได้อย่างไม่เป็นทางการ
แหล่งการเรียนรู้จึงเป็นที่เรียนของการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคม หากจะกำหนดลักษณะของแหล่งการเรียนรู้ตามนัยของมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ จะพบว่าแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์กีฬาและนันทนาการ แหล่ง ข้อมูล และแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งอาจจำแนกประเภทแหล่งการเรียนรู้ไว้กว้าง ๆ 2 ประเภท คือ
- แหล่งการเรียนรู้ที่จัดกระทำไว้เพื่อวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เช่น ห้อง
สมุด ประชาชน พิพิธภัณฑ์ สวนพฤกษศาสตร์ อุทยาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น 
- แหล่งการเรียนรู้ที่จัดกระทำไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นเป็นหลัก โดยมีหรือ
ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนรู้ เช่น หอศิลป์ ศูนย์กีฬาและนันทนาการ สวนสัตว์ สวนสาธารณะ เป็นต้น


องค์ประกอบของแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณา คือ
1. ตัวแหล่งการเรียนรู้ซึ่งเน้นไปที่สถานที่ที่จัดเป็นแหล่งการเรียนรู้
2. กิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง
- คน กับ คน
- คน กับ กลุ่ม
- คน กับ สื่อ
- กลุ่ม กับ กลุ่ม
- กลุ่ม กับ สื่อ
- คน กับ เหตุการณ์
- กลุ่ม กับ เหตุการณ์


ความสัมพันธ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นโดยลำพังเฉพาะตัว เฉพาะกลุ่ม โดยไม่สัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ
ก็ได้ ในขณะเดียวกันเป็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนการสนทนา (Conversation Base) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อาจจะเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ อาจจะตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะพาไป
3. นักการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งจะเป็นผู้จัดการให้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้น
4. การบริหารจัดการแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อม
บรรยากาศของการเรียนรู้


การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย
ในแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตแต่ละแห่งจะมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติของแหล่งนั้น ๆ
อยู่ การจัดการจึงเป็นการจัดแบบไม่จัด โดยให้คงสภาพการเป็นแหล่งการเรียนรู้ จะโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนรู้ หรือมีวัตถุประสงค์หลักอย่างอื่นก็ตาม ควรให้เป็นไปตามธรรมชาติของแหล่งน้น ๆ การจัดการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้เป็นเพียงการเพิ่มเติม โดยไม่ทำให้เกิดความแปลกแยกกับธรรมชาติของแหล่งการเรียนรู้นั้น ๆ โดยจัดให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในแหล่งการเรียนรู้นั้น ๆ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น ตื่นตาตื่นใจ รู้สึกว่าคุ้มค่า และเป็นสิ่งที่บุคคลสร้างการเรียนรู้ของตนเองขึ้นเอง โดยอาจมีนักศึกษาตามอัธยาศัยเป็น
ผู้คอยกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น ควรให้ชุมชนเข้ามามี
ส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมดังกล่าว เพื่อจะไม่ทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่แปลกแยกออกจากชีวิตจริง และเป็นการศึกษาที่จะหยั่งรากลงในภูมิปัญญาของแต่ละคน
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องมีการจัดการมากมายเป็นพิเศษ แม้เป็นเพียงสถานที่ที่บุคคลจะได้มานั่งสนทนากัน ก็ถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ขึ้นได้ จากนั้นค่อยพัฒนาไปสู่การนำสาระในแหล่งการเรียนรู้มาเป็นบทสนทนา และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างไม่เป็นทางการ ก็จะทำให้การจัดกิจกรรมแหล่งการเรียนรู้มีชีวิตขึ้นได้


การส่งเสริมการดำเนินงานของแหล่งการเรียนรู้
บทบาทของรัฐในการส่งเสริมการดำเนินงานด้านการศึกษาของแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดำเนินการได้หลายวิธีการ ซึ่งขอเสนอแนะคือ
1. การสนับสนุนด้านงบประมาณในการจัดกิจกรรม โดยตั้งเป็นกองทุนส่งเสริมการ
เรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ทุนเบื้องต้นสำหรับแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ใช้จัดกิจกรรม
2. การสนับสนุนด้านวิชาการ ได้แก่ การจัดทำแนวทางการดำเนินงานเพื่อชี้แนะให้
ผู้รับผิดชอบแหล่งการเรียนรู้นั้นมีแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งอาจรวมไปถึงการร่วมกันพัฒนามาตรฐานคุณภาพการให้บริการด้วย โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน



3. การสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อร่วมกันสร้างนักการศึกษาตามอัธยาศัย
ให้กระจายอยู่ในทุกแหล่งการเรียนรู้ เพื่อช่วยให้บุคคลที่เข้ามาในแหล่งการเรียนรู้ได้เกิดการเรียนรู้ที่สะดวกขึ้น
4. การสนับสนุนโดยการสร้างเครือข่ายการให้บริการร่วมกัน ระหว่างแหล่งการ
เรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อกระจายการบริหารให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และเสริมประสิทธิภาพการบริการซึ่งกันและกัน


บทสรุปที่เป็นจุดเริ่มต้น
แม้แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเป็นเรื่องใหม่ที่มีเส้นฐานมาจากสิ่งที่มีอยู่ แม้เป็นทุนเดิมทางสังคม แต่ก็เป็นประเด็นใหม่ที่กล่าวถึงมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นที่จะใช้แหล่งการเรียนรู้มาเพื่อการศึกษาตลอดชีวิตของบุคคล จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องดังกล่าว เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่สมบูรณ์ขึ้นในสังคมไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น